จากกรณี ป้าของน้องพี อายุ 5 ขวบ นักเรียนชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เข้าร้องเรียนกับนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ว่าหลานชาย ถูกเด็กนักเรียนรุ่นพี่ที่โรงเรียนเดียวกันรุมทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส แขนหัก บอบช้ำภายใน จนติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู ของ รพ.เจ้าพระยายมราช อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี แต่อาการโคม่ายังไม่ดีขึ้นญาติจึงนำตัวส่งมารักษาต่อที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยมี น.ส.นิด แม่น้องพี เฝ้าใกล้ชิด เบื้องต้นโรงเรียนไม่มีการลงโทษเด็กคู่กรณี ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรม อีกทั้งไปแจ้งความที่ สภ.เมืองสุพรรณบุรี ตำรวจก็แนะนำให้เคลียร์กันเองจึงจำเป็นต้องมาร้องเรียน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้า วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ตึกอำนวยการชั้น 2 รพ.จุฬาฯ ผศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ ผู้ช่วย ผอ.ด้านผู้ป่วยวิกฤต และ รศ.พญ.จิตลัดดา ดีโรจน์วงศ์ กุมารแพทย์ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ แพทย์เจ้าของไข้ ร่วมกันแถลงความคืบหน้า โดย ผศ.นพ.อภิชัย กล่าวว่า ทีมแพทย์ได้ประเมินอาการแรกรับของน้องพี แล้วพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดและลิ้นหัวใจ รวมทั้งมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ นอกจากนี้ยังตรวจพบผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณแขนและรักแร้ด้านซ้าย รวมถึงมีอาการซึมเศร้า ต้องให้ยาเพิ่มความดันโลหิต จึงจะทำให้ชีพจรและความดันโลหิตนั้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ผศ.นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทีมแพทย์ผู้รักษาได้ให้การรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจ ยาปฎิชีวนะ ยาเพิ่มความดันโลหิต และต้องรอปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ ด้านกระดูกและศัลยกรรมกุมารฯ อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ผู้ป่วยยังมีอาการคงที่ และต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ซึ่งสรุปอาการโดยทั่วไป ถือว่าอาการของเด็กหนักมาก แต่ก็คงที่ในระดับหนึ่งไม่ได้แย่ลง แต่จะมีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังบอกได้ยาก เนื่องจากเพิ่งรับตัวเด็กเข้ามารักษาเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ต้องรอดูอาการกันต่อไปอีกสักระยะ สำหรับเรื่องกระดูกที่แตกร้าวนั้นต้องรักษาบาดแผลที่แขนให้หายเสียก่อน จึงจะมาทำการรักษาเรื่องกระดูกต่อไป
ต่อมา นางปวีณา พร้อมย่า แม่ และป้า เดินทางเข้าเยี่ยมอาการน้องพี โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งย่าน้องพี กล่าวว่า ตนและครอบครัวติดใจเรื่องที่เด็กมีอาการช้ำใน หากเป็นการกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันจริงก็ไม่น่าจะถึงกับช้ำใน ถ้าบอกว่ากอดรัดฟัดเหวี่ยงกันจนล้มแขนหักก็พอรับได้บ้าง แต่ถึงขนาดบอบช้ำภายในก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งหลังจากที่มารักษาตัวที่รพ.จุฬาฯทางผู้ปกครองของคู่กรณีก็ยังไม่ได้ติดต่อเข้ามาพูดคุยแต่อย่างใด ในส่วนของคดีไม่อยากพูดถึง ขอให้เป็นหน้าที่ของตำรวจจัดการไป แต่หวังว่าจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา และสิ่งเดียวที่อยากได้ตอนนี้คือ อยากให้หลานหายดีกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ซึ่งขอขอบคุณทางมูลนิธิปวีณาเป็นอย่างมากที่ได้เข้ามาช่วยเหลือ
ด้าน นางปวีณา กล่าวว่า หลังรับน้องพี เข้ามารักษาตัวแล้ว ได้ประสานไป ผบก.ภ.จว.สุพรรณบุรี ให้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องคดีความด้วย ซึ่ง ผบก.ภ.จว.สุพรณบุรี ก็รับปากว่าเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้งนี้จากการสอบถามทางญาติของน้องพีทราบว่า ฝ่ายผู้ปกครองของคู่กรณียังไม่มีการติดต่อมา ซึ่งคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ตนได้ประสานไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) ให้เข้าไปดูแลครอบครัวของน้องด้วย และในช่วงเย็นวันนี้ตนจะได้พาญาติเดินทางเข้าพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เพื่อปรึกษาปัญหาและให้กระทรวงหามาตรการเข้าไปดูแลเด็กนักเรียนช่วงพักเที่ยง เนื่องจากขณะนี้ทางมูลนิธิปวีณาฯ ได้รับการร้องเรียนเรื่องปัญหาของเด็กนักเรียนในช่วงพักเที่ยงเข้ามาจำนวนมาก เช่น เด็กทะเลาะวิวาทกันชกต่อยกัน หรือลวนลามกัน เนื่องจากไม่มีอาจารย์ดูแล
ขณะที่ นายฉัฐชาย ภู่แสงวงษ์ ผอ.โรงเรียนดังกล่าว เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้องพี วัย 5 ขวบ และน้องเอ (นามสมมุติ) วัย 6 ขวบ นักเรียนชั้น ป.1 ชกต่อยกันแบบตัวต่อตัวไม่ได้มีการรุมตามที่สื่อนำเสนอ โดยเหตุเกิดที่สนามหญ้า จนเวลาเลยไป 4-5 วัน ผู้ปกครองจึงแจ้งว่าหลานชายมีอาการเจ็บที่ไหล่ ทางโรงเรียนจึงพาไปตรวจที่รพ.เจ้าพระยายมราช พบว่ามีไหล่ร้าว ต่อมาโรงเรียนจึงเรี่ยไรเพื่อนครูช่วยออกค่าใช้จ่ายต่างๆในการรักษา จนกระทั่งต่อมาพบว่าเด็กมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงนำส่ง รพ.จุฬาฯ แต่จะเกี่ยวกับอาการไหล่ร้าวหรือไม่ต้องรอแพทย์ยืนยันอีกครั้ง
ส่วน นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผอ.สพท.เขต 1 สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทางญาติไปร้องมูลนิธิปวีณาฯ เพราะไม่เชื่อว่าเป็นการชกต่อยกันตัวต่อตัวแต่เป็นการรุมทำร้าย จึงได้ตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบที่โรงเรียน ทราบเบื้องต้นว่าไม่มีการรุมทำร้าย หลังเกิดเหตุทางคณะครูก็ดูแลเป็นอย่างดี และทราบว่าทางญาติของเด็กทั้งสองฝ่ายตกลงค่าเสียหายแต่ไม่เป็นที่พอใจ จนกระทั่งเด็กมีอาการทรุด ทั้งนี้ต้องรอผลวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเกิดจากอะไร และให้โรงเรียนช่วยเหลือเด็กอย่างเต็มที่ในทุกๆด้าน.