วันนี้ (9 พ.ค.) หลังจากสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) มีการแถลงข่าวประกาศผลแอดมิชชั่น ปี 2556 ผู้สื่อข่าวรายงาน นักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละคณะของคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลางประจำปีการศึกษา 2556ได้เปิดเผยความในใจ โดยนายสุธิวิชญ์ สร้อยสุวรรณ หรือ “ต้า” จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนสูงสุดแอดมิชชั่น คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจ เพราะเป็นคณะที่อยากเรียน โดยตนได้เลือกเรียนในสาขาการเมืองการปกครอง เพราะสนใจการเมือง และติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา
ส่วนตัวมองว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แม้จะไม่สนใจแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบกับทุกคน ดังนั้นควรมองและติดตามข่าวสารการเมืองอย่างเข้าใจ รวมทั้งต้องรู้จักคิดวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย เพราะหากเราเชื่อไปตามข่าวสารทุกอย่าง โดยไม่มีการคิดวิเคราะห์ ก็จะเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ส่วนเรื่องการเรียนนั้นตนเรียนได้เกรดเฉลี่ย 3.9 แต่ไม่ได้เครียด เพราะชอบทำกิจกรรมด้วย อีกทั้งไม่มีเคล็ดลับการเรียนเก่ง แต่เป็นคนที่ชอบเรียน จึงคิดว่าหากเราได้ทำในสิ่งที่รัก และมีความสุขก็จะทำสิ่งนั้นได้ดี
“อนาคตผมไม่อยากเป็นนักการเมือง แต่อยากเป็นอาจารย์ เพื่อจะมาสอนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง การปกครอง เพราะคิดว่าการให้ความรู้กับคนจะเป็นประโยชน์มากกว่า ฝากบอกนักการเมืองที่บริหารประเทศในปัจจุบันขอให้หันมาสนใจพัฒนาเรื่องการศึกษา และให้ความสำคัญกับเยาวชนมากขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้จะโตเป็นผู้ใหญ่ ที่จะต้องไปพัฒนาประเทศได้” น้องต้า กล่าว
ด้าน “น้องแพรว” หรือ น.ส.พิมพิกา ประสานศักดิ์สกุล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนสูงสุดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้น และดีใจมากที่ได้ที่ 1 คณะนิเทศ เพราะเป็นคณะใฝ่ฝันจะเข้าเรียนให้ได้ แต่ต้องไปปรึกษากับพ่อแม่อีกครั้งว่าจะเรียนต่อในคณะนี้หรือไม่ เพราะขณะนี้ตนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งเป็นคณะที่ใฝ่ฝันเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากตนไม่เลือกเรียนคณะนิเทศฯ หลายคนคงคิดว่า แย่งที่นั่งคนอื่น แต่ตนอยากให้เข้าใจด้วยว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำตามความฝันของตนเอง ดังนั้นตนก็เลยลองมาแอดมิชชั่น ทั้งนี้ ในการแอดมิชชั่นครั้งนี้ตนไม่ได้มีเคล็ดลับในการเรียนอะไรมาก เพียงแค่ตั้งใจเรียนให้องเรียน แต่ตนยังเรียนพิเศษบ้างในรายวิชาที่จำเป็นต้องใช้แอดมิชชั่น และเป็นรายวิชาที่ไม่ค่อยถนัด เช่น วิทยาศาสตร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามอยากฝากเพื่อนๆ ที่พลาดหวังจากแอดมิชชั่นให้สู้ต่อไป เพราะแอดมิชชั่นไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต และปีหน้าก็ยังมีโอกาสที่จะแอดมิชชั่นใหม่ได้
ส่วน “น้องนิกกี้” หรือ นายวีรประพันธ์ กิติพิบูลย์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คะแนนสูงสุดคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่สอบติดคณะดังกล่าว เพราะเป็นคณะในฝัน และเป็นคณะที่จะได้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคุณแม่ของตนซึ่งเป็นหมอฟัน ส่วนเคล็ดลับการเรียนจะทำกิจกรรมควบคู่การเรียน ซึ่งจะได้ทั้งความรู้และได้เพื่อน สังคม ดังนั้นฝากทุกคนให้ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ทบทวนบทเรียนหลังเลิกเรียน เรียนกวดวิชาเฉพาะวิชาที่เราไม่ถนัด และต้องทำกิจกรรมโรงเรียนด้วย ส่วนคนที่พลาดแอดมิชชั่น ไม่ต้องเสียใจ เพราะยังมีมหาวิทยาลัย คณะดีๆให้เลือกเรียนอยู่ ขณะเดียวกันฝากพ่อแม่อย่าบังคับลูกเรียน แต่ขอให้ลูกได้เลือกเรียนคณะ สาขาที่ตนเอง และหากลูกพลาดหวังขอให้กำลังใจลูก
“น้องกาย” หรือ นายจิรวัฏ สมรักษ์ จากโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน คะแนนสูงสุดของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ได้คะแนนสูงสูดคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะไม่คิดว่าเด็กต่างจังหวัดจะสามารถทำคะแนนได้สูงสุดของคณะ ดังนั้นแสดงเห็นว่าเด็กต่างจังหวัดไม่ได้ด้อยไปกว่าเด็กในกรุงเทพ และไม่ว่าจะเรียนที่ไหนคุณภาพก็เหมือนกัน เพียงแต่ต้องตั้งใจเรียนให้มาก แต่ไม่ต้องเครียดจนเกินไป อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ ทุกคนที่พลาดจากแอดมิสชั่น อยากให้ลุกขึ้นเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง เพราะยังมีมหาวิทยาลัยดีๆ ที่รองรับให้เราได้เข้าเรียนอีกมาก
น.ส.ชนม์นิภา นิ่มธุภะริยะ หรือ “นุ๊ก” โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม คะแนนสูงสุดคณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้รู้ว่าผ่านแอดมิชชั่น ในคณะนี้ เพราะชอบเรื่องภาษา อีกทั้งตั้งใจเรียนในห้องเรียนและทำงานส่งอาจารย์ให้ครบถ้วนตามที่ได้รับมอบหมาย เพราะสิ่งเหล่านี้ได้ประโยชน์ต่อตัวเราและช่วยให้ผลสอบดีด้วย อย่างไรก็ตาม ตนเรียนกวดวิชา เพราะบังคับตนเองให้อ่านหนังสือเองไม่ได้ และอยากเสริมความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เรียนในห้องเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเรียนกวดวิชา เพราะมีเพื่อนของตนหลายคนไม่ได้เรียนกวดวิชาแต่สอบแอดมิชชั่นได้
นายจารุเดช บุญญสิทธิ์ หรือ “น้องฟอร์ด” จากโรงเรียนจิตรลดา คะแนนสูงสุดคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ดีใจ และไม่คิดว่าจะมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งของคณะ อยากฝากบอกเพื่อนๆที่ไม่ติดแอดมมิชชั่นขอให้สู้ต่อไป ส่วนเคล็ดลับในการเรียนให้ตั้งใจเรียนในห้องให้ดี และอาจจะหาที่กวดวิชาเพิ่มบ้าง เพราะมองว่าการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวนั้นความรู้ไม่พอที่จะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และโชคดีที่โรงเรียนจิตรลดามีการนำการทดสอบความถนัดทั่วไปหรือแกตมาให้นักเรียนได้เรียนรู้ นอกจากนี้อยากกระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรโดยตัดบางวิชาที่ไม่จำเป็นออก แต่แอดมิชชั่นไม่ควรปรับบ่อย เพราะจะทำให้เด็กเตรียมตัวไม่ทัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง