จากงานแถลงยุทธศาสตร์ชาติของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ นศ.วปอ.รุ่น 54 ณ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งประเด็นสำคัญที่คณะนศ.วปอ.54 นำเสนอเป็นการทำยุทธศาสตร์ชาติปี
เพื่อเป็นการวางรากฐานให้กับประเทศนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยเสนอ 4 ยุทธศาสตร์ได้แก่
1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชาติสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยใช้ความได้เปรียบจากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทย ที่เชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ รอบทิศ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านทั้งระบบราง ทางน้ำ ทางอากาศ และทางท่อ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมจากทั้งในและต่างประเทศ
2.ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชาติ และการจัดตั้งคณะกรรมการระดับการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งการพัฒนาครูปรับการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษาระบบการรับนักเรียนเข้าระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมให้มีศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น
3. ยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนมีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล
4. ยุทธศาสตร์การยุติสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่ นศ.วปอ. เสนอไปนั้น มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ไม่อาจละเลยได้ คือ คุณภาพของคน ซึ่งเป็นผู้ที่รับผลของการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่เสนอและเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนให้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ เป็นความจริงขึ้นมาได้
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงคุณภาพของคนไทยแล้ว คงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า สังคมไทยเองก็ยังมีความกังวล และมีข้อกังขาต่อคุณภาพของคนไทยอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากรายงานต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งในส่วนที่พวกเรารับรู้จากสภาพสังคมที่เป็นอยู่ก็ตาม ยิ่งเมื่อรัฐบาลทุ่มเททรัพยากรและความพยายามทั้งมวล เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าและการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558 ย่อมนำความกังวลในเรื่องคุณภาพของคนไทยอย่างไม่ต้องสงสัย
แม้ว่าประเทศไทยจะพยายามอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ ปี2542 ที่มีความพยายามปรับปรุงการศึกษาทั้งระบบ แต่ทว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยุบเลิก แบ่งแยก และจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรต่าง ๆ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งมีการทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาลไปเพื่อการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นความพยายามที่จะสร้างคุณภาพการศึกษา แต่ก็ยังไม่ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น หากจะปล่อยให้กระบวนการของการปฏิรูปการศึกษาพัฒนาไปอย่างช้า ๆ เช่นนี้ การศึกษาก็อาจจะไม่สามารถพัฒนาคุณภาพคนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้ เราจึงขอเสนอข้อเสนอเพื่อเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา 5 ประเด็น เพื่อเสริมเติมเต็มให้กับความพยายามของรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. เร่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษา โดยให้ความสำคัญการพัฒนาหลักสูตร และปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนที่เน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองเป็นหลัก โดยครูมีบทบาทกระตุ้นส่งเสริมตามหลักการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากกว่าการบอกความรู้ ซึ่งอาจต้องทบทวนเนื้อหาสาระที่จำเป็นจริงๆ และเพื่อให้ได้การศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสูง ต้องมีการปรับระบบการวัดผลประเมินผลใหม่โดยใช้ระบบการวัดผลประเมินผลกลางที่เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ ปรับระบบการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยใช้คะแนน O – NET ภาคปลาย ม.5 รวมกับคะแนนสอบปลายภาคของ ม.6 ในการพิจารณาของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมการวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ของประเทศ รวมทั้งปรับแก้โครงสร้างองค์กรที่ยังไม่ลงตัวให้สอดคล้องกับภารกิจที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการทบทวนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เพียงพอ เป็นต้น
2. เร่งรัดการพัฒนาครู โดยต้องให้ครูปรับวิธีสอนของตนเองที่เน้นคุณภาพมากขึ้นตามหลักครูดีของกระทรวงศึกษาธิการ คือ สอนเป็น เห็นผล คนยอมรับ ซึ่งผลงานของครูควรสัมพันธ์กับความมั่นคงในอาชีพ และครูต้องได้รับการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ “บัตรเครดิตเพื่อการพัฒนาตนเอง” ที่ครูจะใช้สำหรับขอเข้ารับการอบรมตามมาตรฐานการทำงานของครู 3 ด้าน คือ มาตรฐานความรู้และประสบการณ์ มาตรฐานการปฏิบัติงาน และมาตรฐานการปฏิบัติตน ภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ต้องเปิดโอกาสให้คนเก่งเข้ามาเป็นครู โดยมีระบบการคัดเลือกที่เหมาะสม รวมทั้งการพัฒนาให้คนพร้อมจะเป็นครู โดยใช้ระบบที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นผู้กำหนดนโยบายและมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงศึกษาธิการ
3. เร่งฟื้นฟูบทบาทของสังคม โดยเฉพาะบทบาทของพ่อแม่ที่ต้องช่วยดูแลเอาใจใส่การศึกษาของบุตรหลานคู่ขนานไปกับโรงเรียน และต้องเพิ่มบทบาทของสื่อมวลชนในการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องของการเรียนรู้ โดยเฉพาะบทบาทในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ขณะเดียวกันหน่วยงานต่าง ๆ ก็ควรได้รับการกระตุ้นส่งเสริมให้จัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆ แก่ประชาชน โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาทางเลือกให้มากขึ้น เพื่อเสนอทางเลือกทางการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลาย
4. เร่งระดมสรรพกำลังพร้อมกัน โดยเสนอให้มีคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด หรือสภาการศึกษาจังหวัด ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการประสานการจัดการศึกษาในจังหวัด โดยเฉพาะแผนการพัฒนาคุณภาพคนแต่ละช่วงวัย และแต่ละประเภท รวมทั้งมีบทบาทในการระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา การส่งเสริมให้มีศูนย์การเรียนรู้ที่หลากหลาย และปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัว โดยยึดหลักความเป็นธรรมมากกว่าเท่าเทียม และลดภาระของผู้ปกครอง อย่างแท้จริง และการจัดให้มีกองทุนส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาของภาคส่วนต่างๆ
5. เร่งประกันอนาคตของผู้เรียน โดยจัดให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการโดยผ่านสมาคมวิชาชีพในการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับตำแหน่งงาน และรองรับระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่จะให้ค่าตอบแทนตามความสามารถมากกว่าวุฒิการศึกษา รวมทั้ง การสนับสนุนให้ผู้จบการศึกษาเข้าถึงกองทุนตั้งตัวได้ของรัฐบาลอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กออกจากระบบการศึกษากลางคัน โดยเฉพาะช่วงรอยต่อ ม.3 ถึง ม.4 ที่เด็กต้องมีที่เรียนต่อทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา โดยเฉพาะการเพิ่มเงินอุดหนุนพิเศษให้แก่ผู้เรียนสายอาชีวศึกษาในสาขาที่ขาดแคลน
ทั้งนี้ ข้อเสนอเพื่อการเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาที่เสนอมานี้ ต้องการให้เป็นข้อเสนอเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล และขอให้ยกระดับการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารก็ตาม
คณะนักศึกษา วปอ.54
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น