ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามตำแหง บางกะปิ 083-792-5426

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รัฐบาลลุยจำนำข้าว ปี2 คนไทยบักโกรกแบกหนี้


โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าจะล้มเหลวหรือไม่? หลังจากรัฐบาลยอมทุ่มเงินมหาศาลแลกกับการยกระดับราคาข้าวเปลือก เพื่อรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับคะแนนเสียงกว่า 15.7 ล้านเสียง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายงานเสนอความเห็นต่อครม.ว่า การจำนำข้าวรอบปีแรก 54/55 ได้ใช้วงเงินเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และข้าวเปลือกนาปรัง ไปแล้วกว่า 517,958 ล้านบาท ซึ่งแม้จะไม่ระบุที่มาที่ไปว่าเป็นการใช้วงเงินจากส่วนใดบ้าง แต่ถือว่าเป็นเม็ดเงินสูงที่สุด เมื่อเทียบกับโครงการประชานิยมอื่น ๆ

หากนับรวมโครงการจำนำฤดูกาลใหม่ที่เพิ่งเริ่มขึ้น ถ้ารัฐบาลยังจำนำแบบเต็มที่เหมือนเดิม ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อรับจำนำข้าวเปลือกเพิ่มอีก 26 ล้านตัน วงเงิน 4.05 แสนล้านบาท และเงินจ่ายขาดเพื่อดำเนินการรับจำนำ 11,771.25 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนำงบประมาณที่ใช้หมุนเวียนในโครงการจำนำข้าวทั้ง 2 ปีมารวมกัน รัฐต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทเลยทีเดียว แม้ระหว่างนั้นรัฐบาลสามารถนำเงินจากการขายข้าวที่ได้รับจำนำมาคืนทุนให้ก็ตาม

ตัวเลขวงเงินงบประมาณที่สูงขนาดนี้ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า รัฐบาลกำลังก่อหนี้เกินตัวและกลายเป็นภาระของประเทศของคนไทยทุกคนหรือไม่ เพราะล่าสุดตัวเลขจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนก.ค.55 มีทั้งสิ้น 4.89 ล้านล้านบาท คิดเป็น 44.19% ของจีดีพี หากหารเฉลี่ยแล้วคนไทยทั่วประเทศทั้งเกือบ 66 ล้านคนมีหนี้เฉลี่ยสูงถึง 74,332 บาทต่อคนเลยทีเดียว

ที่น่ากลัวไปกว่านั้น ยังพบว่านับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ใช้เงินทำโครงการประชานิยมจำนวนมาก จนทำให้ภาระหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยเฉพาะเดือนก.ค. 55 มีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 1.08 แสนล้านบาท และหากนับตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนก.ค.55 มีหนี้เพิ่มแล้วกว่า 5.3 แสนล้านบาท ที่สำคัญ สบน.ประเมินด้วยว่าหนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงต่อเนื่องไปอีก 5 ปีข้างหน้า จนทะลุจุดอันตรายไปถึง 54-55% ของจีดีพี หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าแผนการกู้เงินเพื่อการลงทุน 2 ล้านล้านบาท

ผลกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะ...นับเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะหากมองไปในโลกปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้โลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น มาจากนโยบายและการใช้งบประมาณผิดพลาดของรัฐบาล จนสร้างหนี้สาธารณะมากเกินไปและพาประเทศล้มละลายแบบประเทศกรีซ

แม้กระทรวงพาณิชย์ออกมาโต้แย้งว่างบประมาณที่ใช้จำนำข้าวหลายแสนล้านบาท ไม่ใช่งบประมาณที่เสียเปล่าไปทั้งหมด เพราะถึงอย่างไรต้องมีเงินจากการขายข้าวที่รับจำนำ มาทยอยจ่ายคืนเงินคงคลังแน่นอน โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายว่ารัฐบาลจะขาดทุนจากการจำนำไม่เกิน 60,000-70,000 ล้านบาทต่อฤดูกาล ต่ำกว่าเงินที่ใช้ในการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะหากขายข้าวได้ตามแผนจะได้เงินคืนถึง 2.6 แสนล้านบาททีเดียว โดยเริ่มได้เงินก้อนแรกทยอยคืนรัฐได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ 85,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แผนของกระทรวงพาณิชย์เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งอาจจะทำได้ตามแผน หรือทำไม่ได้ตามแผนก็ได้...

หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ระบายข้าวของรัฐบาลในปัจจุบัน ถือว่าเต็มไปด้วยความเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหา “ซื้อข้าวมาแล้ว แต่ขายไม่ออก”  เพราะบรรยากาศการเปิดประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่คึกคักนัก มีการเปิดประมูลไป 5 รอบ แต่ขายข้าวได้แค่ 4 รอบ ปริมาณ 4 แสนกว่าตัน ขณะที่การขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) แม้กระทรวงพาณิชย์จะโชว์ตัวเลขมากถึง 7 ล้านตัน แต่เป็นตัวเลขการส่งออกระยะยาวไปจนถึงปีหน้า แถมมีข่าวลือว่าเป็นเพียง “ออร์เดอร์ลม” ยังไม่สามารถส่งออกได้จริง ส่วนตัวเลขการส่งออกข้าวไทย ล่าสุดใน 9 เดือน ทำได้เพียง 5 ล้านตัน มีปริมาณส่งออกติดลบจากปีก่อน 44.56%

ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวที่ผ่านมา ยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้าวขาว 5% จากเคยสูงเกิน 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงเหลือ 580-590 ดอลลาร์ และแนวโน้มหากรัฐบาลเร่งระบายออกไปในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้ระบาย อาจทำให้ราคาข้าวตกลงไปอีก ประกอบกับช่องโหว่ที่รั่วไหลจากการทุจริต จะยิ่งซ้ำเติมให้โครงการจำนำข้าวครั้งนี้มีโอกาสขาดทุนมากขึ้น และผลประโยชน์ตกไม่ถึงมือชาวนาอย่างแท้จริง

มีการประเมินกันว่า หากรัฐบาลขายข้าวขาดทุน 1 แสนล้านบาท จะทำให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ทันที และกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งขึ้นอยู่ที่ 44.19% ใกล้แตะระดับอันตราย 50% แล้ว ทำให้โครงการจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นโครงการประชานิยมหัวแถว และใช้เงินมากที่สุดต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากผิดพลาดขึ้นมา จะกระทบชิ่งหลายทอด ทั้งต่อโครงการประชานิยมอื่น เสถียรภาพของรัฐบาล ตลอดจนการฉุดเศรษฐกิจไทยให้ตกอยู่ในความเสี่ยงทันที

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลจะหาทางเหยียบเบรก เพื่อชะลอการเพิ่มภาระหนี้แก่ประชาชนไว้ก่อน เพราะไม่สามารถผลักภาระหนี้ไปซุกไว้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อีกเหมือนการจำนำรอบแรก ส่งผลให้การประชุม ครม. ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ดำเนินการเฉพาะข้าวเปลือกนาปีจำนวน 15 ล้านตัน วงเงิน 240,000 ล้านบาทไปก่อน จากวงเงินที่ขออนุมัติทั้งหมด 4.05 แสนล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้ให้ใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. เพื่อดำเนินโครงการ เพียง 150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเพดานการกู้เงินที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ และส่วนที่เหลือให้ใช้เงินที่รับจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ 85,000 ล้านบาท

ส่วนผลผลิตข้าวเปลือกนาปรัง 55 ที่เหลืออยู่ จะรอใช้เงินที่ได้จากการระบายข้าวสต๊อกรัฐมาดำเนินการไปก่อน นอกจากนี้ ครม.ยังไม่เห็นชอบการพิจารณาเรื่องข้าวเปลือกนาปรังปี 55 รอบพิเศษ อีก 3.3 ล้านตัน วงเงิน 49,5000 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของสศช. ที่เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณารายละเอียดวงเงินงบประมาณให้ชัดเจนโดยคำนึงถึงรายได้ที่จะได้จากการระบายข้าวเพื่อลดยอดวงเงินกู้ ส่วนข้าวนาปรังควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนเป้าหมายใหม่เพราะมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ

ภาพเหล่านี้สะท้อนว่ารัฐบาลยังกังวลว่า การจำนำข้าวจะล้มเหลวจริงหรือไม่ เพราะกุนซือใหญ่ของรัฐบาล ’วีรพงษ์ รามางกูร“ ยังออกโรงเตือน หากจำนำข้าวกันแบบนี้ต่อไป อาจทำให้รัฐบาลล้มครืนได้ ซึ่งยังไม่นับรวมกลุ่มคนอีกหลายฝ่ายที่ต้องการล้มโครงการจำนำข้าว ทั้งฝ่ายค้านที่ค้านเพื่อหวังผลทางการเมือง พ่อค้าข้าวที่ต้องการทุบราคารอซื้อข้าวถูก รวมถึงนักวิชาการที่ยอมเป็นข่าวเพื่อสร้างชื่อเสียง

ปมปัญหาจำนำข้าวยังต้องติดตามกันต่อไปแบบชนิดที่เรียกว่าห้ามกะพริบตากันทีเดียว โดยเฉพาะในโครงการจำนำข้าวนาปรังปี 56 ที่ต้องรอลุ้นว่ารัฐบาลจะหาเงินมารับจำนำได้ทันการหรือไม่ เพราะครม.ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ให้เงินเพิ่ม แต่ให้ใช้เงินหมุนเวียนจากการขายข้าวแทน ดังนั้นในช่วง 4-5 เดือนนับจากนี้ จึงนับเป็นจุดสำคัญของโครงการรับจำนำอย่างแท้จริง หากรัฐขายข้าวได้น้อยกว่าแผนที่ตั้งไว้ รัฐจะไม่มีเงินจำนำต่อ แต่หากขายได้ตามแผนถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้ายอมขายปริมาณมากแต่ราคาถูกก็เสี่ยงขาดทุนในระยะยาว

ในเมื่อรัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่ออีกเป็นปีที่ 2 เพื่อรักษาสัญญาของตัวเอง แต่หากยังเดินหน้าตามแนวทางเดิม...ก็รังแต่จะสร้างปัญหาสร้างความสงสัยให้กับสังคมโดยเฉพาะเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะนั่นหมายความว่า...เงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลขาดทุนย่อมทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องแบกหนี้เพิ่มขึ้น.
ย้ำขายข้าวได้กว่า 2.6แสนล้านแน่

“บุญทรง เตริยาภิรมย์”  รมว.พาณิชย์ บอกว่า โครงการจำนำข้าวที่หลายฝ่ายโจมตีว่าไม่โปร่งใส และทำให้รัฐบาลขาดทุนเป็นแสนล้าน ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ขาดทุนมากอย่างที่ถูกกล่าวหา และมั่นใจว่า ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า กระทรวงพาณิชย์จะสามารถขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล  ที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 54/55 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 55 ได้ไม่ต่ำกว่า 260,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายปีนี้ 85,000 ล้านบาท ไตรมาสแรกปีหน้า 40,000 ล้านบาท ไตรมาสสอง 30,007 ล้านบาท ไตรมาสสาม 50,000 ล้านบาท และไตรมาสสี่ 55,800 ล้านบาท  จากงบประมาณที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 2 ฤดูกาลประมาณ 280,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ในปีนี้ยังยืนยันว่า ไทยยังรักษาแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกไว้ได้แน่นอน โดยคาดว่า ปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านตัน แบ่งเป็นการส่งออก
ของเอกชน 6.5 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการส่งออกแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากสัญญาที่รัฐบาลได้ทำการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีน บังกลาเทศ โกตดิวัวร์ อินโดนีเซีย รวม 6 สัญญา ปริมาณ 7.328 ล้านตัน  ซึ่งทั้งหมดเป็นสัญญาที่เปิดแอลซีแล้ว ไม่ใช่แค่เอ็มโอยู และเริ่มทยอยส่งมอบได้ในปีนี้ 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะส่งออกได้ครบในปีหน้า ดังนั้นยืนยันว่าการขายข้าวจีทูจีจึงเป็นเรื่องจริงไม่ใช่ออร์เดอร์ลม ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ยังได้เปิดให้ผู้ส่งออกประมูลซื้อข้าวรัฐอีกด้วย

ส่วนการจำนำข้าวปีนี้ รัฐบาลไม่ทบทวนลดเพดานราคารับจำนำข้าวเปลือกลงจากข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิ 20,000 บาท ตามที่นักวิชาการเสนอ และได้รับการยืนยันจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่าไม่ได้ขาดสภาพคล่องและพร้อมจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวให้กับเกษตรกรต่อไป

“ยืนยันว่า การทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องการรับจำนำข้าว และการระบายข้าว ทำอย่างระมัดระวัง การขายแต่ละครั้งมองถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงความรับผิดชอบต่องบประมาณ เราพยายามไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบการค้าและราคา ที่สำคัญได้เปิดให้เอกชนเข้าร่วมการประมูล เพราะเราไม่ต้องการขายได้ราคาต่ำ ๆ ถูก ๆ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราทำไปแล้วให้ประโยชน์ตกอยู่ในมือประเทศอื่น หรือทำแล้วชาวนายังยากจนข้นแค้นอยู่ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันให้ระบบการค้าข้าวไทยก้าวหน้า เพื่อให้โลกรับรู้ว่าไทยขายข้าวคุณภาพดี ราคาสูง”.
ทีมเศรษฐกิจ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design Downloaded from Free Blogger Templates Download | free website templates downloads | Vector Graphics | Web Design Resources Download.