ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามตำแหง บางกะปิ 083-792-5426

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เพชฌฆาตเงียบ"มะเร็งต่อมลูกหมาก"คร่าชีวิตชายไทย






“มะเร็งต่อมลูกหมาก” เพชฌฆาตเงียบ คร่าชีวิตชายไทยเป็นอันดับ 4 ผู้เชี่ยวชาญคาดต้นตอเกิดจากฮอร์โมนเพศ-รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง-กรรมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญชี้สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ด้วยเคมีบำบัด ระบุผู้ป่วยทุกสิทธิ์ในประเทศสามารถเข้าถึงยา-เคมีบำบัดมาตรฐานได้
วันนี้ (18 พ.ย.) ผศ.นพ.ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบปัสสาวะ รพ.สงขลานครินทร์ ปฏิคมและประชาสัมพันธ์ สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่มักพบได้ในผู้ชายสูงอายุ ในประเทศไทยอายุที่พบได้บ่อยคือมากกว่า 60 ปี และมีรายงานการเกิดอุบัติการณ์ล่าสุดสำหรับผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นมาเป็นอันดับ 4 จากเดิมซึ่งอยู่อันดับ 9 โดยสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ชัดเจน แต่หลายคนเชื่อว่าฮอร์โมนเพศชาย และการรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมากมีการเจริญเติบโตมากขึ้น  เนื่องจากโรคนี้พบมากที่สุดในชาวตะวันตก นอกจากนั้นสาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากยังเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์อีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ในระยะลุกลามซึ่งทำให้การรักษาไม่สามารถทำให้หายขาดได้ 
ผศ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่าสำหรับอาการของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการใด ๆ ซึ่งอาจจะตรวจพบจากการตรวจร่างกายประจำปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักถูกวินิจฉัยโรคได้ในระยะเริ่มต้น เมื่อได้รับการรักษาแล้วจะสามารถหายขาดจากโรคได้ 2.กลุ่มที่มีอาการเกี่ยวข้องกับโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะที่ผิดปกติ เมื่อผ่านการตรวจอย่างละเอียดอาจพบว่าเกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากทางท่อปัสสาวะ เพื่อแก้ไขภาวะต่อมลูกหมากโตและพบมะเร็งจากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา และ 3. กลุ่มที่มีอาการของมะเร็งโดยทั่วไป ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามร่างกาย และกระดูก อาการเหล่านี้เป็นผลจากการลุกลามของมะเร็ง ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่การรักษาจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นและอาจป้องกันการลุกลามของมะเร็งได้
ทั้งนี้เมื่อทราบแน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แนวทางและวิธีการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ระยะของโรค และอายุของผู้ป่วยรวมทั้งการประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยการรักษาในช่วงแรกมักรักษาด้วย การผ่าตัด การฉายแสง หรือการบล็อกฮอร์โมนเพศชายร่วมเข้าไปด้วยเพื่อให้การรักษาได้ผลดีขึ้น แต่หากการรักษาไม่ได้ผลและมะเร็งมีการแพร่กระจายแล้ว แพทย์จะให้เคมีบำบัด โดยการให้ทางเส้นเลือดดำเหมือนให้น้ำเกลือ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวจะช่วยไปฆ่าเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งการลุกลามเพิ่มขึ้นของมะเร็ง และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแต่เนิ่นๆ หรือรวดเร็ว ก็จะสามารถช่วยรักษาโรคได้ดีขึ้นและลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากมะเร็ง และมีผลดีคือทำให้ผู้ป่วยคงสภาพชีวิตเป็นปกติหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยาวนานที่สุด
ด้าน ผศ.ดร.นพ. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเตรียมพร้อมก่อนที่จะมารับเคมีบำบัดว่า การเตรียมตัวจะมี 2 ด้าน คือด้านร่างกายและด้านจิตใจ โดยเฉพาะทางด้านร่างกาย ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิดว่าถ้ามารักษาโรคมะเร็งแล้วต้องจำกัดอาหาร ตอนนี้มีกระแสเยอะเลยทีเดียวคือพยายามให้กินแต่ผัก หรือกินแต่โปรตีนจากปลาเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ขาดสารอาหารสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพอมารับยาเคมีบำบัดแล้วก็จะทนได้ไม่ดี เพราะยาเคมีบำบัดจะทำให้มีเม็ดเลือดต่ำ หากขาดสารอาหาร เม็ดเลือดก็จะฟื้นตัวไม่ดีเท่ากับมีภาวะโภชนาการที่ดีจริง ๆ
ผศ.ดร.นพ. วิโรจน์ ยังกล่าวถึงการฟื้นตัวภายหลังจากการให้เคมีบำบัดว่า คนไข้จะสามารถฟื้นตัวได้ดีภายใน 14 วัน ผลข้างเคียงที่จะพบค่อนข้างต่ำ ในบางคนอาจจะมีอ่อนเพลียบ้าง สำหรับอาการคลื่นไส้อาเจียนสามารถป้องกันได้ แต่ส่วนใหญ่หลังรับยาเคมีบำบัดแล้วร่างกายจะดีขึ้น สบายขึ้น เพราะอาการจากโรคเช่น อาการปวดกระดูกจะน้อยลง คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าให้เคมีบำบัดแล้วทำให้ร่างกายทรุด แต่สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นไม่ใช่ เพราะเมื่ออยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการประเมินว่าคนไข้แต่ละรายสามารถรับยาได้แค่ไหน คนไข้แข็งแรงพอหรือไม่ หากคนไข้สูงอายุหรือเคยผ่านการฉายแสงมามาก อาจจะต้องมียากระตุ้นเม็ดเลือดขาวช่วยหลังจากที่ได้รับเคมีบำบัด ส่วนเรื่องอาหารหลักง่ายๆ คือสุกสะอาด หลีกเลี่ยง อาหารรสจัด ของหมักดอง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อจนร่างกายเกิดผลกระทบได้ หากรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทาโภชนาการครบถ้วนก็จะทำให้คนไข้พร้อมที่จะรับยาได้อย่างเต็มที่
อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ทางด้านสิทธิของผู้ป่วยในการใช้ยาในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้น มาตรฐานของบัญชียาหลักแห่งชาติ ครอบคลุมการรักษาพื้นฐานของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทุกระยะของโรค รวมทั้งการให้เคมีบำบัดในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย เนื่องจากเคมีบำบัดเป็นการรักษาที่ช่วยยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ในปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยทุกสิทธิ์ในประเทศไทยรวมถึงผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้าถึงยาเคมีบำบัดมาตรฐานนี้ได้ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจายจึงได้รับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ ผู้ป่วยทุกรายยังมีความหวังที่จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถเข้าร่วมสัมมนา “สานสายใย ใส่ใจต่อมลูกหมาก” โดยนายกสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยฯ และนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 1 ธ.ค.ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป ณ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี หรือสำรองที่นั่งได้ที่โทร  087-698-2735 ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design Downloaded from Free Blogger Templates Download | free website templates downloads | Vector Graphics | Web Design Resources Download.