ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามตำแหง บางกะปิ 083-792-5426

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

“ผบ.ตร” มอบนโยบายผบช.-ผบก. ขู่ 3 เดือนงานไม่คืบโดนเด้ง


                   เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้(3ต.ค.)ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดสัมมนามอบนโยบายการบริหารราชการตำรวจประจำปี 2556 โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.และรอง ผบ.ตร.เข้าร่วมประชุมพร้อมมอบนโยบายในแต่ละด้าน และมีข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับผู้บังคับการ (ผบก.) ขึ้นไปกว่า 347 นาย เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้
                  โดย พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวมอบนโยบายว่า นโยบายที่จะเน้นในการทำงานมีอยู่ 3 ภารกิจหลักตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องปัญหายาเสพติด รวมถึงการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ขณะเดียวกันทางนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เพื่อเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชน ซึ่งตนจะนำผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่ฝากถึง ผบ.ตร. คนใหม่ให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ และการเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชน มาปฏิบัติ นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินการจะยึดเจตนารมณ์ 3 ข้อ คือ 1.ปกป้อง เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.การทำงานด้วยหลักธรรมาภิบาล พร้อมการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาอาเซียน 3.พัฒนาตำรวจให้เป็นอาชีพ ทำงานเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชน  ทั้งนี้ ปัญหาที่ประสบพบเจอขณะนี้เป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น อาชญากรรมเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว หรือเรื่องการเปิดสถานบริการเกินเวลา ปัญหาการค้าประเวณีเด็ก ปัญหาการแข่งขันรถบนท้องถนนในตามชานเมือง รวมถึงเรื่องการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เองก็มีปัญหาเรื่องระบบการรับแจ้งเหตุร้องเรียนที่ล่าช้า และในบางหน่วย หรือบางสถานีตำรวจขาดการบูรณาการ ซึ่งตรงนี้ต้องมีการทบทวนใหม่
               “ปัญหาอาชญกรรมและโครงสร้างตำรวจต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยเริ่มจากผมจะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เพราะผู้บังคับบัญชาต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลสำเร็จและความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ทุกอย่างจะเคลื่อนโดยผู้นำหน่วยตามลำดับ ซึ่งต้องแก้บริหารจัดการกับปัญหาท่ามกลางความขาดแคลนให้ได้ ไม่ใช่หัวหน้าหน่วยทั้ง ผบช.หรือ ผบก.มาบอกว่า ไม่มีงบประมาณและขาดอุปกรณ์นั้น ผมอยากจะเรียนว่าที่ได้รับการแต่งตั้งมานั้น เขามอบหมายให้เข้าไปแก้ปัญหาเหล่านั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากการขับเคลื่อนแผนงานไม่ดีขึ้น หรือการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภาคใต้ไม่ดีขึ้น ผมต้องรับผิดชอบคนแรก” ผบ.ตร.กล่าว
                 พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้ตั้งระบบศูนย์ปฏิบัติการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ที่ชั้น 20 เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเชื่อมโยงได้ทั่วประเทศ และใช้ประโยชน์ด้านความรวดเร็วและครอบคลุมของข้อมูล เนื่องจากระบบมีความสำคัญ ทุกหน่วยจะต้องมีระบบดังกล่าว จะทำงานแบบเป็นตำรวจตัวคนเดียวสบายๆ ไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพมีความรู้ความสามรถ ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกน้องในหน่วยต้องไปเผชิญสถานการณ์คนเดียว โดยผู้บังคับบัญชาต้องเป็นผู้นำ หรือเป็นเหมือนผู้บริหารและครูด้วย แม้แต่ในโรงพักต้องมีครูทำหน้าที่จ๊อบเทรนนิ่ง เช่น ฝึกการบริหารจราจร ฝึกยุทธวิธี
              “ที่สำคัญคือการพัฒนาโรงพัก เพราะทุกวันนี้พบโรงพักหลายแห่งสกปรกรกรุงรัง และห้องประชุมบางครั้งก็ไม่เคยใช้ ฉะนั้นจะต้องมีการดูแลส่วนนี้ด้วย การบริหารประชาชนในโรงพักต้องดี หัวหน้าโรงพักใช่ว่าตื่นมาเดินไปโรงพัก ส่วนตอนเย็นก็ไปตีกอล์ฟอย่างนี้ไม่ได้ โรงพักจะเคลื่อนได้ ถ้ามีการรับแจ้งความที่ดี หรือมีการบริการ ณ จุดเดียว และต่อไปโรงพักต้องมีห้องปฏิบัติการ มีการบริการประชาชนต้องเร็ว ภายใต้ความคิดที่ว่า จะต้องได้คะแนนบวก 1 เสมอในการปฏิบัติงาน เพื่อแย่งชิงมวลชน ไม่ใช่พอปฏิบัติงานกลับเป็นติดลบไปหมด” ผบ.ตร.ชี้แจงนโยบาย
               พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนด้านบริหารคดีนั้น ในคดีใหญ่ๆ อยากจะให้ผู้บัญชาการลงไปนั่งหัวโต๊ะประชุมคดีกับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้เคลื่อนไปอย่างมีระบบ และหากเกิดเหตุการณ์สำคัญให้รายงานทันที ตนจะใช้ความเร็วลงพื้นที่ นอกจากนี้ในการควบคุมฝูงชนนั้น ต้องมีการฝึกเตรียมพร้อมเคลื่อนย้ายกำลังพล หรือการตั้งผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ สำหรับสวัสดิการกำลังพลนั้นตนให้ความสำคัญมาก โดยผู้บังคับบัญชาต้องลงไปดูแลทั้งหมด เดินดูชีวิตครอบครัวตำรวจ สร้างอาชีพให้ตำรวจเป็น ต้องใส่ใจเรื่องขวัญกำลังใจแก่ลูกน้อง เพื่อให้ลูกน้องทำงานได้เบี้ยเลี้ยง ที่พักและอาหาร
                “หลังจากผู้บังคับบัญชามีโอกาสทำงานแล้ว 3 เดือน  หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผมขอใช้อำนาจหิ้วตัวเลย ถ้าผมสั่งแล้วไม่มีการขับเคลื่อนก็ต้องพลีชีพกันบ้างแล้ว ผมเป็น ผบ.ตร.ต้องทำเต็มที่ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการก็ต้องทำเต็มที่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวทิ้งท้าย
               ด้าน พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัติ รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านการปราบปราม (ปป.) กล่าวว่า ในเรื่องด้านการปราบปรามนั้น ตนจะดูแลพื้นที่ บช.น. , บช.ก. ด้วยตัวเอง โดยมี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ที่ปรึกษา (สบ10) พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร.ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ช่วยทำงาน ขณะที่พื้นที่ บช.ภ.1 , 2 และ 7 นั้นให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ดูแล โดยมี พล.ต.ท.จรัมพร และ พล.ต.ท.ชนินทร์ ปรีชาหาญ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ช่วย ส่วนพื้นที่ บช.ภ.5 และ 6 จะมีพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง รอง ผบ.ตร.ดูแล และมี พล.ต.ท.เอกรัตน์ มีปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ช่วย สำหรับพื้นที่ บช.ภ.3 และ 4 จะมี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ดูแล และมี พล.ต.ท.เอกรัตน์ และ พล.ต.ท.สันติ เพ็ญสูตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ช่วย ขณะที่พื้นที่ บช.ภ.8 และ 9 มี พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา (สบ10) ดูแลโดยมี พล.ต.ท.จักรทิพย์ เป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ ยังมีอาชญากรรมพิเศษด้านต่างๆ ที่แบ่งงานให้ไปรับผิดชอบ
                พล.ต.อ.ปานศิริ กล่าวอีกว่า ด้านการปราบปรามอาชญากรรมจะนำการใช้มาตรการทางภาษีและฟอกเงินมาใช้ โดยเน้นการปราบปรามอาชญากรรมเชิงรุก ส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารของตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยดึงประชาชนเป็นศูนย์กลางและมาเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเทียบปริมาณของตำรวจญี่ปุ่นกับตำรวจไทย พบว่ามีจำนวนเท่าๆ กัน แต่ญี่ปุ่นได้ดึงประชาชนเข้ามาร่วมเป็นตำรวจ แม้แต่เด็กคนหนึ่งก็สามารถเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจได้
                "เราไม่สามารถทำให้อาชญากรรมเป็นศูนย์ได้ แต่เราลดความหวาดกลัวอาชญากรรมได้ ซึ่งการวัดความพึงพอใจจะเป็นเครื่องชี้วัดการทำงานกับประชาชน โดยงานปราบปรามอาชญากรรมนั้น ต้องสร้างทีมงานวิเคราะห์อาชญากรรมทุกระดับ เน้นการจัดระเบียบสังคมเข้มงวดกวดขันในทุกพื้นที่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องที่กระทบกับเยาวชนของชาติ ผมขอฝากเรื่องนโยบายรัฐบาลเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งตำรวจต้องทำให้ได้ แลขอเน้นย้ำการทำเซฟตี้โซน เรื่องการปราบปรามอาชญากรรมต้องมองประชากรอาเซียน ไม่ใช่เพียงคนในประเทศเท่านั้น  อีกเรื่องที่เน้นคือการค้ามนุษย์ เรื่องนี้ทาง ผบก.ภ.จว.ต่างๆ ต้องสอดส่องและกวดขันอย่าเข้มงวด" รอง ผบ.ตร.กล่าว
                   ขณะที่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านกฎหมายและคดี (กม.) กล่าวว่า ขอบเขตงานของตนมีงานของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร) นต. , งานพิทักษ์เด็กและครอบครัว โดยตนจะดำเนินการเร่งด่วน อย่างการปรับตำแหน่งพนักงานสอบสวน การปรับเงินเพิ่มของพนักงานสอบสวน ซึ่งกำหนดตำแหน่งให้พนักงานสอบสวนสามารถขึ้นถึงนายพลได้ นอกจากนี้ แนวทางปฏิบัติจะเน้นย้ำเข้มงวดกวดขันเรื่องการสอบสวนผู้บังคับบัญชา โดยต้องเอาใจใส่ สร้างความโปร่งใสในการสอบสวน จะโทษพนักงานสอบสวนไม่ได้ เพราะระดับ ผบก.ต้องลงไปดูแลเอง นอกจากนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนต้องมีการประสานงานกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกองพิสูจน์หลักฐาน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการที่บูรณาการกับฝ่ายสอบสวนและฝ่ายปราบปราม และต้องเคารพกฎหมายไม่ฝ่าฝืนกฎหมายเสียเอง เพราะต้องเป็นตำรวจมืออาชีพอย่างแท้จริง
 
                    พล.ต.อ.อัมรินทร์ อัครวงศ์ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) กล่าวว่า สำหรับงานด้านจเรตำรวจที่ตนรับผิดชอบนั้น ถือว่าเป็นงานที่สำคัญ การตรวจสอบตำรวจของจเรตำรวจนั้น จะดำเนินการไปตามเนื้อผ้า ไม่มีเรื่อง 2 มาตรฐาน และต้องยึดตามจริยธรรม จรรยาบรรณตำรวจ การตรวจสอบช่วงแรกจะโฟกัสไปยังหน่วยที่สัมผัสใกล้ชิดประชาชน เช่น โรงพัก ซึ่ง ผบ.ตร.ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง จเรตำรวจจะลงไปตรวจสอบ โดยวัดจากความรู้สึกของประชาชน  ทั้งนี้ ตนเคยสอนตำรวจมามาก ช่วงแรกตำรวจก็จะเป็นสีขาว พอจบออกไปก็เริ่มสีเทา สักพักตำรวจบางนายก็เริ่มกลายเป็นสีดำ ฉะนั้นเป้าหมายต่อจากนี้ต้องทำอย่างไรให้ตำรวจส่วนใหญ่กลายเป็นสีขาวให้ได้
                 ด้านพล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านความมั่นคง (มค.) กล่าวว่า งานมั่นคงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยยึดตามนโยบาย ผบ.ตร.เพื่อตอกย้ำว่า ผู้นำคิดและทำเหมือนกัน โดยงานด้านการข่าวความมั่นคงนั้น ตนเน้นปัญหาก่อการร้ายข้ามชาติที่เราเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นตำรวจจำนวน 2 แสนนาย ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะเป็นหน่วยข่าวที่ดีที่สุด อย่าละเลยข่าวชิ้นเล็กๆ ในพื้นที่ ควรรายงานข่าวทุกชิ้นเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การข่าวมีประสิทธิภาพ มีฐานข้อมูล โดยขณะนี้ทางกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) มีโปรแกรมฐานข้อมูลข่าวก่อการร้าย ซึ่งจะต้องปรับใช้สอดคล้องกับงานความมั่นคง โดยขอความร่วมมือกับ บช.แต่ละภาค ให้มีผู้รับผิดชอบด้านการข่าวอย่างน้อย 1 คน และจะมีการจัดการประชุมประชาคมข่าว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน ทั้งนี้ สิ่งที่หายไปจากระบบข่าว คือ การสะกดรอยติดตาม ฉะนั้นขอให้แต่ละสถานีตำรวจไปสำรวจบุคคลกรที่ผ่านหลักสูตรนี้มา ให้ใช้หลักสูตรดังกล่าวร่วมกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการควบคุมฝูงชน ซึ่งตามแผนกรกฎ 52 จะต้องมีกองร้อยควบคุมฝูงชนจำนวน 3 กองร้อย แต่จากนี้จะขอให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งกองร้อยควบคุมฝูงชนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กองร้อย และจะมีการมอบรางวัลดีเด่นให้กับกองร้อยควบคุมฝูงชน โดยปี 54 ที่ผ่านมาทาง บช.ภ.5 ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งทั้งตนและ ผบ.ตร.จะเดินทางไปมอบรางวัลให้ พร้อมกับเชิญ ผบช.แต่ละภาค ไปดูการทำงาน เพื่อพัฒนากองร้อยควบคุมฝูงชนในแต่ละภาค และขอให้สำรวจว่าในพื้นที่ของตนเองว่า ใครมีอายุน้อยที่สุด เพื่อนำบรรจุมาอยู่ในกองร้อยควบคุมฝูงชน นอกจากนี้ตนจะเปิดรับนายสิบตำรวจ ก่อนจะบรรจุเข้ากองร้อยควบคุมฝูงชน โดยจะมีการฝึกฝนอย่างเข้มข้น และฟังความสั่งจากผู้บังคับบัญชาอย่างเดียว โดยไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงาน ส่วนการพัฒนาเครื่องมือนั้น  เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ตนได้ทดสอบการใช้แก๊สน้ำตารุ่นใหม่ที่ผสมน้ำ พบว่าผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาชนิดนี้ จะทำให้ลืมตาไม่ขึ้นเป็นเวลา 10 นาที หากนำมาใช้ในการเปิดทางที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา จะส่งผลดีกว่าการใช้แก๊สน้ำตารุ่นเก่า แต่ข้อเสียของแก๊สน้ำตารุ่นใหม่เมื่อนำไปใช้ในพื้นที่ที่ติดริมถนนและริมคลอง อาจจะเกิดอันตรายกับประชาชนที่ต้องการออกจากพื้นที่ เพราะเมื่อถูกแก๊สน้ำตาแล้วจะทำให้มองไม่ ในส่วนนี้ตนจะนำไปคิดหาวิธีแก้ไข
 
                “เชื่อว่าแก๊สน้ำตารุ่นใหม่จะช่วยปิดทางให้นายกฯ ได้ น่าจะเอาอยู่ โดยขอย้ำว่าเรื่องการควบคุมฝูงชนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทาง ผบ.ตร.เน้นมาก อาจจะส่งผลให้การหิ้วหรือไม่หิ้วตามมาได้” พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวพร้อมระบุถึงการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ อย่างการประชุมคณะรัฐมนตรีในต่างจังหวัด ทาง ผบก.ภ.จว.นั้น ต้องมีการเข้าพื้นที่ส่วนหน้าทันที อย่างปฏิบัติแบบประมาท
 
                  พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวมอบนโยบายด้านการศึกษาอบรมว่า ตำรวจต้องเรียนรู้และอบรมอยู่เสมอ แต่หลายปีที่ผ่านมาตำรวจได้งบประมาณด้านศึกษาอบรมน้อยมากเพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่จากนี้จะได้เพิ่ม ส่วนนโยบายจะเน้น 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.เน้นยุทธวิธีให้มีความรู้เป็นสากล 2.พัฒนาศูนย์ฝึกของตำรวจให้เพียงพอใหม่และสะอาด 3.ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย มีหลักสูตรเฉพาะทาง 4.เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้การฝึกให้พร้อม 5.กระจายอำนาจหน่วยฝึกไปยังพื้นที่ให้สอดคล้องความต้องการจำเป็นของหน่วย 6.สร้างบุคคลกรครูฝึกให้มีประสิทธิภาพ 7.เตรียมตำรวจให้มีความรู้ตำรวจเรื่องประชาคมอาเซียน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design Downloaded from Free Blogger Templates Download | free website templates downloads | Vector Graphics | Web Design Resources Download.