ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ รามตำแหง บางกะปิ 083-792-5426

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เอกชนไทยแห่ลงทุนเวียดนาม ประเดิมความพร้อมรับ เออีซี


เหลือเวลาอีก 2 ปีเศษที่ 10 ประเทศอาเซียนต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งระหว่างกันด้วยการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทุกฝ่ายทุกสาขาอาชีพ จึงเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงสื่อมวลชนที่มีส่วนสำคัญที่จะสื่อสารให้ประชาชนรับความรู้ความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง หลักสูตรเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำสื่อมวลชนเดินทางไปพิสูจน์การเตรียมพร้อมของภาคเอกชนไทยที่ ’เวียดนาม”

ถ้าพูดถึงประเทศอาเซียน ที่กำลังเนื้อหอม  กลายเป็นทั้งคู่แข่ง และคู่ค้าสำคัญของไทย คงหนีไม่พ้น “เวียดนาม”  ด้วยความที่เป็นประเทศเพิ่งตั้งตัวได้จากสงคราม ยังมีพื้นที่การลงทุนมาก  และมีทรัพยากรมนุษย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความขยัน และค่าแรงถูก ตกวันละ 100 บาท จึงทำให้หลายประเทศต่างหันหัวมุ่งหน้าแห่ไปลงทุนในเวียดนาม เริ่มตั้งแต่ “ธนาคารกรุงเทพ” ที่กลายเป็นที่พึ่งนักธุรกิจไทยที่ลงทุนในเวียดนาม  ในฐานะที่เข้าไปชิมลางเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2504 จึงทำให้มีข้อมูลแน่นปึ้ก แต่ได้หยุดให้บริการไปหลังจากเวียดนามเกิดสงครามไซง่อน และหลังจากสงครามสิ้นสุดลง จึงกลับมาให้บริการอีกครั้งถึง 2 สาขา คือ สาขา “โฮจิมินห์ซิตี” ในปี 35 และสาขา “ฮานอย” ในปี 37 ซึ่งถือเป็นธนาคารต่างประเทศแห่งแรกที่กลับมาเปิดให้บริการได้ หลังสงครามสิ้นสุดลง และล่าสุดธนาคารกรุงเทพในเวียดนาม ยังได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารถึง 99 ปี  หรือถึงปี 2654  หลังจากใบอนุญาตเดิมจะหมดลงในสิ้นปีนี้

งานนี้ “ธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์” ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ สาขาเวียดนาม ได้ให้คำแนะนำนักลงทุนที่อยากเข้าไปลงทุนเวียดนามว่า ควรเข้าไปลงทุนแบบถือหุ้น 100% จะได้ประโยชน์มากกว่าการร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติเวียดนามที่เปิดโอกาสให้ทำได้ แต่ต้องยอมรับว่าในช่วง 3 ปีแรกอาจขาดทุน จากนั้นจึงเริ่มมีกำไรและเป็นกำไรแบบคุ้มทุนแน่นอน เห็นได้จากนักลงทุนไทยในเวียดนามที่ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับ อาหาร  สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเวียดนามชื่นชอบสินค้าไทยมาก อะไรที่เป็น เมด อิน ไทยแลนด์ ชาวเวียดนามถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่าเมดอินไชน่า และการเข้าสู่เออีซีเชื่อว่าจะเป็นผลดีกับเวียดนาม เพราะปัจจัยบวกต่าง ๆ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกเวียดนาม เพื่อสร้างฐานการผลิตป้อนตลาดโลก และตลาดภายในเวียดนาม เพราะปริมาณประชากรในเวียดนามสูงถึง 90 ล้านคน ค่าแรงงานต่ำเฉลี่ยต่อคน 7,000–8,000 บาทเท่านัั้น

อีกธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเวียด นาม คือ “เครือซี.พี.”  ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น ขยายตัวเฉลี่ย 29% โดย “สุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์” รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น ในเครือ ซี.พี. เล่าให้ฟังว่า ซี.พี.เวียดนาม ทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรสัตว์บกและสัตว์น้ำ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์และธุรกิจต่อเนื่อง 8 โรงงาน และการทำตลาดที่สำคัญคือยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ขายแค่สินค้า แต่ยังขายบริการและความพึงพอใจให้กับลูกค้าด้วย

รองซีอีโอ ซี.พี.เวียดนามฯ เปรียบเทียบการลงทุนเวียดนามและพม่าว่า การลงทุนในเวียดนามน่าสนใจกว่าพม่า เพราะขยายตลาดไปลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ที่มีชายแดนติดเวียดนาม เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจไม่ใช่แค่ประชากรเวียดนามมากเท่านั้น แต่เศรษฐกิจในเวียดนามผันผวน และมีปัญหาเปลี่ยนกฎหมายบ่อยบางครั้งยังย้อนหลังอีกต่างหากซึ่งเป็นอุปสรรคการลงทุนมาก
    
เช่นเดียวกับธุรกิจใน เครือเอสซีจี ที่ “โฉลกพร ผลชีวิน” กรรมการผู้จัดการบริษัท วีนาคราฟท์ เปเปอร์ ในเครือเอสซีจี เล่าว่า มองเห็นความต้องการใช้กระดาษลูกฟูกจำนวนมาก จึงตัดสินใจลงทุน และธุรกิจกระดาษถือเป็นธุรกิจใหญ่ที่สุดของเอสซีจีที่เข้ามาลงทุน จากที่ได้เข้ามาลงทุนใน 5 กลุ่มธุรกิจ คือ กระดาษ, ปิโตรเคมี, ซีเมนต์ เป็นต้น ส่วนแนวการทำตลาดและธุรกิจในเวียดนามของเอสซีจี จะใช้รูปแบบการขยายการลงทุนธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป

ด้านธุรกิจในเครือ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ก็ไม่ยอมตกขบวน โดย “มงคล บัณฑรรุ่งโรจน์” รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล เวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โดยบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (บีเจซี) ถือหุ้นสัดส่วน 75% และมงคลกรุ๊ป ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้า (โลจิสติกส์)  ถือหุ้น 25% โดยเป็นผู้ทำตลาด และกระจายสินค้าจากไทยเป็นหลัก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว ล่าสุดเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า 

นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนสร้างห้างค้าปลีกในเวียดนาม ที่เตรียมขายสินค้าไทย 70% เพื่อเป็นช่องทางทำให้แบรนด์ไทยเข้มแข็งขึ้น และส่งเสริมให้เอสเอ็มอีมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเหมือนห้างอิเซตันไทย ที่เน้นขายสินค้าจากญี่ปุ่นเป็นหลัก เพราะชาวเวียดนามชื่นชอบสินค้าไทยอยู่แล้ว และหัวใจของการทำธุรกิจที่ผ่านมา คือ ค้าแบบเงินสด  และให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ที่ทำให้ชนะใจผู้บริโภคได้ในที่สุด รวมถึงการทำกิจกรรมเพื่อมีส่วนช่วยเหลือสังคมด้วย

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ครั้งนี้  แม้หลายคนมองว่าเป็นวิกฤติที่อาจทำลายธุรกิจไทย แต่อีกหลายคนเห็นเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึง ’ต้องรู้เขา รู้เรา” ที่สำคัญต้องรู้จัก ’พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” ให้ได้อีกด้วย.
ทีมเศรษฐกิจ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design Downloaded from Free Blogger Templates Download | free website templates downloads | Vector Graphics | Web Design Resources Download.